พระศรีมหาโพธิ์ เขาช่องกระจก
ภาพลิงกับต้นโพธิ์ เขาช่องกระจกนี่ถ่ายไว้เมื่อ 15 มิถุนายน 2560 ... ปกติจะขึ้นไปบนเขาช่องกระจกบ่อย แต่ในปีนั้นไม่ค่อยได้ขึ้นไปเพราะว่าเป็นช่วงที่มีการก่อสร้างและปรับพื้นที่บนภูเขาขนานใหญ่ อย่างป้ายที่เขียนคำว่า “เมืองสามอ่าว” ก็สร้างในปี 2560 นอกจากนั้นยังมี ขยายศาลาบนยอดเขา และทาสีบันไดจากสีขาวเป็นสีเหลืองด้วย
ปีนั้นหลังจากภาพนี้ก็ไม่ค่อยได้ขึ้นไปบนเขาช่องกระจกนานหลายเดือน มาทราบข่าวอีกที่ต้นโพธิ์ก็เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศในปลายเดือนสิงหาคม 2561 ว่าถูกตัดทิ้งเสียแล้ว
พระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นไปทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2501
พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (Mahabodhi Tree) ในปี 528 BC ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นนี้ตั้งอยู่ที่วัดมหาโพธิ์ เมืองพุทธคยา (Mahabodhi Temple, Bodh Gaya) ในประเทศอินเดีย
ตามความเชื่อเล่าเจ้าชายสิทธิธัตถะนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ 7 สัปดาห์ (49 วัน) ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ในวันที่ 8 ธันวาคม (ตามความเชื่อของนิกายมหายาน , เซน ซึ่งจะต่างจากไทยที่ถือเอาวันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้) ซึ่งทำให้วันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี ถูกตั้งให้เป็นวันต้นโพธิ์ (Bodhi Day)
ในสมัยพระเจ้าอโศก (Ashoka the Great) พระเจ้าอโศกให้การเคารพต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นอย่างมาก ทรงโปรดให้สร้างบัลลังค์เพชร หรือ วัชรอาสนะ (Diamond Thorne) ขึ้นตรงจุดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงโปรดให้มีการสร้างมหาวิหารขึ้น และได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกฤติกา (Krittika, Kittika) ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ซึ่งปฏิทินอินเดียถือเป็นเดือนแปด เป็นการเฉลิมฉลองให้กับกลุ่มดาวลูกไก่ และยังเป็นช่วงที่ย่างเข้าหน้าแล้ง ตรงกับช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว
288 BC พระเจ้าอโศกยังได้รับสั่งให้เจ้าหญิง แสงหมิตรา (Sanghamitta) อัญเชิญหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปยังศรีลังกา และปลูกเอาไว้ที่เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ซึ่งต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยเจ้าหญิงแสงหมิตรา ถูกเรียกว่า จายะศรีมหาโพธิ์ หรือ ต้นพระชัยศรีมหาโพธิ์ (Jaya Sri Maha Bodhi) (คำว่า Jaya แปลว่า ชัยชนะ) ต้นจายะศรีมหาโพธิ์นี้ปัจจุบัน มีอายุ 2308 ปีแล้ว ถือเป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่มนุษย์เป็นผู้ปลูก
เหตุที่ต้นจายะศรีมหาโพธิ์มีอายุมากกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็เพราะว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายลงหลายครั้ง
262 BC ครั้งแรก เกิดเพราะพระมเหสี ติสสารักขา (Tissarakkha) พระมเหสีในพระเจ้าอโศก พระองค์ไม่ได้นับถือพุทธ และไม่ต้องการให้พระเจ้าอโศกเผยแพ่ศาสนาพุทธ และ 3 ปี หลังจากติสสารักขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชนี พระองค์ได้สั่งให้ทหารทำลายต้นโพธิ์
พระเจ้าอโศกเสียพระทัยมาก ได้แต่นั่งเฝ้าต้นโพธิ์ที่ถูกเผา และอธิษฐานขอให้มีต้นโพธิ์ต้นใหม่งอกขึ้นมา ซึ่งหลังจากได้รับการเอาใจใส่อย่างดี ต้นโพธิ์อ่อนก็งอกขึ้นมาที่ตำแหน่งเดิมของต้นที่ถูกเผาไป
2 BC ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกตัดเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยของพระเจ้าปุษยมิตร ศุงคะ (Pushyamitra Shunga) ซึ่งพระองค์นับถือฮินดู และเป็นผู้ที่โค่นล้มราชวงศ์มูรยะ (Maurya) ลง
600 AD ในสมัยของกษัตริย์ชาชันก้า (Shashanka) ผู้สถาปนาอาณาจักรเกาดา (Gauda Kingdom) ได้สั่งให้ทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ลงอีกครั้ง
พระถังซัมจั๋ง (Xuanzang) ซึ่งเดินทางมายังอินเดีย ในช่วงศตรวรรษที่ 7 ได้บันทึกถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์เอาไว้ว่า ทุกๆ ครั้งที่ต้นไม้ถูกทำลายลง ก็จะมีต้นใหม่งอกขึ้นมา ณ.จุดเดิมเสมอ
1862 อเล็กซานเดอร์ คัมมิ่งแฮม (Alexander Cunningham) วิศวกร และนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้เข้ามาศึกษาซากโบราณสถาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระศรึมหาโพธิ์ ซึ่งในขณะนั้นวัดกลายเป็นโบราณสถานที่เสื่อมโทรมและถูกทิ้งร้าง คัมมิ่งแฮม เขียนไว้ในหนังสือ Archaeological Servey of India ของเขา เล่าถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ว่า
ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นยังคงอยู่ แต่ว่าอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก ลำต้นเดี่ยว แต่ว่ามีสามกิ่งใหญ่ยื่นไปทางทิศตะวันตกที่ยังคงเขียว แต่ว่ากิ่งอื่นที่เหลือนั้น เปลือกลอกและเน่าหมดแล้ว
กิ่งที่ยังเขียวนั้นอาจจะเป็นกิ่งของต้นที่อายุน้อยต้นใดสักต้น เพราะที่ตรงนั้นมีต้นโพธิ์เล็กๆ หลายต้นที่ขึ้นมาเกี่ยวพันกัน ต้นโพธิ์นี้อาจจะเกิดขึ้นใหม่แล้วหลายหนแล้ว เพราะว่าในตอนนี้โพธิ์อยู่สูงกว่าระดับกว่าพื้นดินโดยรอบกว่า 30 ฟุต และในปี 1811 ตอนที่ ดร.เบนจามิน ฮามินตัน (Dr. Buchanan Hamilton) เคยเขียนถึงโพธิ์ตรงนี้เอาไว้ว่าน่าจะมีอายุไม่เกิน 100 ปี
1876 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายอีกครั้งจากลมพายุ
1881 ช่วงปี 1880s คัมมิ่งแฮม ได้รับทุนจากรัฐบาลอังกฤษในการฟื้นฟูโบราณสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ และคัมมิ่งแฮมก็ได้ปลูกต้นโพธิ์ขึ้นใหม่ลงที่จุดเดิม
2002 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นบัญชีวัดมหาโพธิวิหารเป็นมรดกโลก
ใบของโพธิ์นั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ตรงที่มีรูปทรงคล้ายหัวใจ มีความเชื่อกันว่าใบของโพธิ์นั้นเคลื่อนไหวได้เองแม้ในตอนที่ไม่มีลม ชาวฮินดูอธิบายว่าสาเหตุเกิดจากการที่มีเทวดาสิงสถิตย์อยู่ในต้นโพธิ์
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่บอกว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ชนิดเดียวที่ปล่อยอ๊อกซิเจนออกมาทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน แต่ก็ลองไปหาข้อมูลมาว่ามันจริงหรือป่าว ? ความเชื่อดังกล่าวอาจจะเกินจริงไปหน่อย แต่ว่าก็มีความน่าสนใจ ที่ว่ากระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นโพธิ์นั้นมีความพิเศษ มันเรียกว่า Crassulacean acid metabolism (CAM) คือในตอนกลางวันต้นโพธิ์สังเคราะห์แสงเหมือนต้นไม้ที่เราคุ้นเคย แต่ว่าในตอนกลางคืน ต้นโพธิ์จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกมา เหมือนต้นไม้ทั่วไป แต่ว่าเก็บคาร์บอนเอาไว้ในรูปของกรดที่บริเวณของใบ และเมื่อถึงเวลากลางวันคาร์บอนก็จะถูกนำมาใช้ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งพืชที่มีกระบวนการสังเคราะห์แสงแบบ CAM นี้ เช่น สับปะรด, กล้วยไม้
5 ปีแล้วหลังจากที่โพธิ์บนเขาช่องกระจก ถูกตัดไป แต่ว่าต้นไม้ตายไปก็ปลูกใหม่ได้ เหมือนพระศรึมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ถูกโค่นลงมาหลายครั้ง แต่ว่าก็จะมีคนนำโพธิ์ไปปลูกใหม่ที่จุดเดิมทุกๆ ครั้ง … เพราะมันไม่ใช่แค่ต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงคนที่นำต้นโพธิ์มาปลูกตรงนี้เสมอ
ด้านข้างของจุดที่ในหลวงเคยปลูกพระศรีมหาโพธิ์เอาไว้นั้น มีโพธิ์ต้นเล็กๆ ขึ้นๆ มา ซึ่งมีการตรวจดีเอ็นเอแล้วว่าตรงกับโพธิ์ต้นเดิม
วันนี้ (12 ก.ย. 2565)ก็เลยขึ้นไปถ่ายรูปมาให้ดู ว่าโพธิ์ต้นเล็กๆ นั้น ผ่านไป 5 ปีแล้ว ตอนนี้สูงใหญ่และดูแข็งแรงดี
The true meaning of life is to plant trees, under whose shade you do not expect to sit.
ความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิต คือการปลูกต้นไม้, ที่ให้ร่มเงาซึ่งคุณเองไม่ได้คาดหวังจะได้นั่ง
― Nelson Henderson