ละหุ่ง

ตัวเมืองประจวบฯ เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะดูแห้งแล้ง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ที่ถูกน้ำท่วมขังมายาวนาน มีสภาพเหมือนป่าชายหาดที่ไม่ค่อยจะมีต้นไม้ใหญ่ ตั้งแต่สมัยผู้เขียนเด็กๆ เวลาปั่นจักรยานไปโรงเรียนประถม ซึ่งห่างบ้านไปราวสามสี่กิโล ตลอดสองข้างทางรถไฟก็จะเป็นแอ่งน้ำที่มีต้นธูปฤษีขึ้นเต็มไปหมด ตรงไหนต้นธูปฤษีน้อยหน่อยก็มีบัวหลวงขึ้น พอไปถึงโรงเรียนซึ่งปัจจุบันรอบๆ กลายเป็นตึกและบ้านเรือนเต็มไปหมดแล้ว แต่เมื่อสักสามสิบปีก่อนนั้น โรงเรียนเหมือนตั้งอยู่ในโอเอซิส ข้างๆ โรงเรียนด้านทิศตะวันตกเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ส่วนทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นด้านหลังของโรงเรียนเป็นทุ่งโล่งๆ ที่แทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ หน้าร้อนแสนจะกันดาน เพราะหน้าดินแตกเป็นแผ่นๆ และมองดูเป็นสีส้มแสบตา แต่ริมรั้วโรงเรียนหลังห้อง ป.6 กับห้อง ป.5 (ซึ่งติดกัน) มีมะขามเทศต้นใหญ่อยู่สองต้น ซึ่งมะขามเทศออกลูกช่วงหน้าร้อน พอเวลาพักกลางวัน พวกเขาก็พยายามจะเก็บฝักมะขามที่สุกมากิน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีค้างคาวตัวใหญ่มาเกาะอยู่ที่ต้นมะขามเทศ และพวกเราเห็นมันตอนกลางวันก็พากันตื่นเต้น อันนั้นคงเป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่เห็นค้างคาวตัวใหญ่ ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งในห้องตะโกนบอกว่า มันคือค้างคาวแม่ไก่

นอกจากต้นมะขามเทศแล้ว หลังโรงเรียนไม่มีต้นไม้ใหญ่อะไร แต่ว่ามีพวกไม้พุ่มเล็กๆ ไม้ที่มีหนาม แล้วก็มีต้นละหุ่งขึ้นอยู่มาก ละหุ่งที่ขึ้นแถบนั้นมีทั้งที่เป็นใบสีแดง และพันธุ์ที่มีใบเขียว ตั้งแต่เด็กๆ พ่อของผู้เขียนก็เตือนเอาไว้ว่าอย่าไปเอาเมล็ดมันมากิน มันกินไม่ได้ แต่เขาเอาน้ำมันไปใช้ทำสบู่

ผู้เขียนมารู้ที่หลังเมื่อป้า (ป้าของผู้เขียน)เล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ ป้ากับพ่อยังเล็กๆ พวกเขา อาศัยอยู่กับป้าแก่น (ป้าของพ่อผู้เขียน) ซึ่งตอนนั้นบ้านของป้าแก่น อยู่ริมถนนเพรชเกษม อาชีพหนึ่งของป้าแก่นก็คือการทำน้ำมันละหุ่งนี่แหละ

ตอนนั้นป้าแก่นมีลูกน้องสิบสองคน คอยช่วยกันเก็บเมล็ดละหุ่งซึ่งมันขึ้นเองในธรรมชาติ เอามาตาก ก่อนที่จะเอามาบีบทำน้ำมัน พื่นที่แถวโรงเรียนที่ผู้เขียนเรียนก็เป็นบริเวณหนึ่งที่ป้าแก่นมาเก็บเมล็ดละหุ่ง แต่ว่าสมัยนั้นป้า (ป้าของผู้เขียน) ก็ยังเล็ก ก็ไม่รู้หรอกว่าพอเอาน้ำมันไปขายแล้ว เขาเอาไปทำอะไรต่อ

แต่ประเทศไทยเป็นปรเทศหนึ่งที่ส่งอออกน้ำมันละหุ่งไปขายในต่างประเทศมาตั้งแต่อดีต ไทยเราเองผลิตเมล็ดละหุงได้ไม่มาก เพียงปีละไม่ถึงหนึ่งหมื่นตัน คงเพราะเมล็ดละหุงราคาไม่ดีนัก เพียงกิโลละ 10 กว่าบาท ไร่หนึ่งได้ไม่เกิน 200 กิโลกรัม ไร่หนึ่งก็จะทำเงินได้สองสามพันบาท ทำให้ไม่มีความนิยมทำเป็นอาชีพ แต่ว่าน้ำมันละหุงมีความสำคัญในอุตสาหกรรม นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ (สมัยเด็กๆ ที่บ้านมีเครื่องบินบังคับอยู่เครื่องหนึ่ง ซึ่งเครื่องบินรุ่นนั้นต้องเติมน้ำมันละหุง) ก็ยังเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง น้ำหอม ส่วนผสมในน้ำมันหล่อลื่น อุตสาหกรรมสีการสังเคราะห์เส้นใย และใช้เป็นยา

น้ำมันละหุ่ง (Caster Oil) เป็นยาตัวหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์ใช้กันมาแต่โบราณ มีการพบเมล็ดละหุ่งอยู่ในสุสามอียิปต์โบราณที่มีอายุกว่า 4000 ปี แต่เอกสารที่มีบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักบณ อย่างบันทึกบนกระดาษปาไปรัสอีเบอร์ (Ebers papyrus) ซึ่งมีอายุเมื่อ 1500 ก่อน ค.ศ. บอกเอาไว้ว่าขาวอียิปต์ใช้น้ำมันละหุ่งในการรักษาอาการระคายเคืองที่ดวงตา และใช้ทำให้ตาขาวสว่างขึ้น

ภาษาลาตินเรียนเมล็ดละหุ่งว่า Ricinus ซึ่งหมายถึง ตัวเห็บ (Tick) เพราะว่ากันว่าเมล็ดละหุ่งดูเหมือนตัวเห็บที่ดูดเลือดจนอ้วน

นอกจากนี้ประธานาธิบดีโธมัน เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ของสหรัฐฯ ยังเป็นท่านหนึ่งที่ชอบปลูกละหุ่ง โดยพื้นที่ไร่มอนติเซลโล่ (Monticello) ของเจฟเฟอร์สัน รัฐเวอร์จิเนีย จะมีการปลูกละหุ่งเอาไว้ทั่วไร่ โดยที่เจฟเฟอร์สันเชื่อว่าละหุ่งจะช่วยไล่ตัวตุ่น (Mole) ไม่ให้มารบกวน และเขายังดูแลต้นละหุ่งต้นหนึ่งเอาไว้จนมีความสูงถึง 12 ฟุต และเขียนประโยชน์ของละหุงทางการแพทย์เอาไว้ในหนังสือ Notes on the State of Virginia

วันนี้เขียนถึงเรื่องละหุ่งเพราะเข้าไปเก็บมะม่วง และก็ตัดหญ้าที่สวน แล้วเห็นต้นละหุงที่มันขึ้นมาเองแล้วก็เลยคิดถึงเรื่องเก่าๆ อีกแล้ว แต่ละหุงตอนนี้เท่าที่มองเห็นด้วยสายตา แค่เริ่มออกดอกเล็กๆ แต่ว่ายังไม่มีเมล็ดให้เห้น ก็เลยถ่ายได้แต่ใบ … 🍃