หว้า

ข้างๆ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบ ใน อ.เมือง มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่หกเจ็ดต้น แต่ละต้นน่าจะอายุหลายร้อยปี เท่าที่เห็นน่าจะเป็นข่อย ตะโก แล้วก็หว้า น่าเสียดายที่บริเวณโดยรอบไม่ได้ถูกปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม และนำมาใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ มันเป็นซากอาคารร้านอาหารเก่าที่ถูกรื้อทิ้ง แล้วก็ปล่อยพื้นที่ไว้เฉยๆ ทั้งๆ ที่อยู่ติดกับองค์การบริหารจังหวัด ทะเล และติดสวนสาธารณะ  เห็นแล้วก็เสียดายต้นไม้ที่ใหญ่อลังการ แต่มีประโยชนืแค่มีผ้าหลากสีมาผูกเอาไว้ที่โค่นต้น

พูดถึงหว้า ... ที่สวนนี้มีต้นหว้า (Jambolan) ใหญ่อยู่สามต้น ทุกต้นสูง 20 เมตรได้แล้ว แต่ละต้นนี่ไล่เรี่ยกับมะพร้าวแล้ว ทุกต้นเป็นต้นที่เพาะมาจากเมล็ด เอามาปลูกไว้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แต่ละต้นก็อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีแล้ว เรียกว่าเป็นน้องชายที่โตมาพร้อมๆ กันเลย

เมล็ดหว้าในสวนที่เอามาปลูกนี้ คืออาหารกลางวันของเด็กๆ ที่โรงเรียนประถม  เจ้าของสวนเดิมเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียนประถม บางวันนักเรียนก็จะหอบเอาลูกหว้าเม็ดใหญ่มากินที่โรงเรียน แล้วก็เอามาฝากครู ก็เลยได้เมล็ดมาเพาะ จริงๆ แล้วเป็นต้นไม้ที่เพาะง่าย เลี้ยงง่าย แต่ยังไม่นิยมปลูกกันเป็นพืชเศรษฐกิจ

หว้านั้นออกดอกในช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม หรือเมษายน แล้วก็จะไปให้ผลที่สุกกินได้ตอนช่วงต้นฝน เดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม  ลูกหว้าที่เก็บจากต้นแล้วกินทันที่เลยหอม หวาน อร่อย และกินเฉพาะตัวไม่เหมือนกับผลไม้ชนิดไหน เป็นความลงตัวของความหวาน เปรี้ยวและกลิ่น เอามาจิ้มกับพริกเกลือก็อร่อย  เสียแต่ว่าลูกหว้าช้ำง่าย และเวลาช้ำก็จะไม่ค่อยอร่อย

ในฮินดูต้นหว้าถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ สำหรับการบูชาพระกฤษณะ จึงมักมีการปลูกต้นหว้าเอาไว้ในบริเวณของวิหารของพระกฤษณะ

ในศาสนาพุทธ มีการเล่าถึงต้นหว้าว่า เมื่อครั้นพระพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ  เจ้าชายได้ทรงประทับใต้ต้นหว้า และทรงนึกคิดถึงเรื่องการหาความหมายของชีวิตและสัจจะธรรมเป็นครั้งแรก

เกือบทุกส่วนของหว้าในอินเดียมีการนำมาทำเป็นชากันในเชิงพาณิชย์ ใบถูกนำมาใช้ทำเป็นชา เชื่อว่ามีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือด, ลดไข้และแก้ไอ ส่วนเมล็ดนำมาบดและใช้เป็นยาลดความดัน