1 min read

การะเกด

การะเกด

กลับมาเยี่ยมบ้านยาย ที่ อ.ท่าชนะ ตอนวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมา ตัวเมืองท่าชนะเปลี่ยนไปมาก อะไรดูเจริญขึ้นก็จริง แต่ว่าเราที่เติบโตมาจากอดีตรู้สึกชอบบรรยากาศแบบเดิมสมัยเป็นเด็กมากกว่า ที่ต้นไม้ยังเขียวขจี มีพืชพันธ์หลากหลาย บ้านเรือนล้านแต่ทำจากไม้

เมื่อก่อนบ้านยายอยู่ติดกับท้องนา เรามักจะกลับมาบ้านในช่วงที่ข้าวสุกและนาก็เป็นสีทองแล้ว  มองไปทางไหนมันก็จะเป็นทุ่งนา สลับกับป่าหวาย  กอไผ่ ละกำ ต้นยางนาสูงเหมือนยักษ์มีอยู่มากมายหลายต้น แต่ว่าที่ใหญ่กว่ายักษ์ ก็เป็นเขาประสงค์ที่อยู่ด้านหลัง นอกจากนั้นยังมีต้นไม้ที่ไม่รู้จักอีกมากมาย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เห็นแต่ปาล์มกับยางพาราทั้งนั้น

สมัยเด็กๆ มักจะเห็นยายนั่งทอเสื่อใบตาล ไม่ก็ใบลาน มานั่งสานเสื่อ สานหมวก อยู่หน้าบ้าน ยายทอเสืออยู่หลายปีจน สายตาของยายพลายมั่วก็เลยต้องเลิกทำเสื่อไป

ส่วนป้าสองคนก็จะตื่นมาทำขนมกันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ตอนผมเล็กๆ ป้าทำขนมหลายอย่าง ก่อนที่จะหลังๆ จะแต่ขนมสอดไส้ ถ้าวันไหนผมตื่นมาเช้า ก็จะได้หยิบไส้ขนมกินเปล่าๆ  …แค่ไส้ขนมก็อร่อยดีอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงต้องไปอยู่ในกระทินึ่งก็ไม่รู้นะ ?

ปัจจุบันป้าเลิกทำขนมไปแล้ว ได้แต่เลี้ยงแมวตัวหนึ่ง กับเดินชมดอกไม้ ต้นไม้ที่ปลูกไว้เท่านั้น

สมัยเด็กที่บ้านยายยังมีเครื่องตีรวงข้าวอันใหญ่ ทรงเหมือนนกหวีดทำจากไม้ ข้างท้ายจะอ้วนๆ ด้านในจะมีลูกกลิ้งที่มีแผงลวดไว้คอยตีรวงข้าว ด้านหน้าก็จะเหมือนจะงอยปากให้เอาฟางข้างที่ยังมีรวงใส่เข้าไป  สูงสักสองเมตร ยาวสามสี่เมตร เอาไว้ตีข้าวให้หลุดจากรวง วางทิ้งเอาไว้เฉยๆ น่าจะเสียแล้ว ผมก็ไม่เห็นมันถูกใช้งานจริง

หลังบ้านติดโรงสีข้าวใหญ่ ของเถ้าแก่ชื่อสนิท ชาวบ้านพอได้ข้าวเปลือกแล้วก็จะเอาไปให้โรงสีสีให้เป็นข้าวสาร

นอกจากนั้นยังมีโม่ที่ใช้โม่แป้งที่เป็นหิน อันนี้เคยเห็นเอามาใช้ไม่กี่คร้ัง เพราะหลังๆ แป้งสำเร็จจะง่ายกว่า


เล่ามาเสียยาวเลย ... จริงๆ ตั้งใจจะพูดถึงต้นไม้ต้นหนึ่งที่ไปเห็นที่วัดคอกช้าง ตอนที่เข้าไปไหว้เจดีย์ของยาย  ช่างโชคดีที่ได้มาเห็นต้น “ลำเจียก” ตอนที่กำลังติดผลอยู่เลย ก็เลยสะดุดตา เพราะถ้าไม่มีลูกอยู่บนต้นอาจจะเดินผ่านไปเพราะคิดว่าเป็นต้น “จันผา” ซึ่งพบบ่อยกว่า

ตอนแรกก็ไม่ได้รู้หรอกว่าเรียกว่า “ลำเจียก” แต่ว่าเดินไปถ่ายรูป และเก็บเมล็ดที่หล่นอยู่ใต้โคนต้นมา แล้วก็เอามาถามน้าดูว่าต้นอะไร ... เพราะบอกว่า “ลำเจียก”  เวลาได้ฟังอย่างนี้ก็รู้สึกแปลกดี เหมือนได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมานานจากละครในโทรทัศน์ แต่ว่าไม่เคยเฉลียวใจว่าหมายถึงต้นไม้

“ลำเจียก” หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “การะเกด” ซึ่งชาวฮาวายเรียกว่าต้นฮาลา (Hala tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Pandanus tectorius”  เป็นพืชชายหาด คือขึ้นบริเวณริมทะเลที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง พบได้ทั่วไปพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

อันที่จริง ต้นฮาลา นี้เป็นพืช dioecious คือ พืชที่มีการแยกเป็นเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้นกัน ในภาษาไทย “ลำเจียก” หมายถึงต้นเพศผู้ และ “การะเกด” หมายถึงต้นเพศเมีย ซึ่งลักษณะเพศของต้นฮาลา ดูได้จากดอกที่แตกต่างกันชัดเจน ซึ่งต้นเพศเมียจะออกดอก 1-3 หนต่อปี

ผลของต้นฮาลายังกินได้ แบบสดๆ เหมือนผลไม้ หรือมีการนำมาแปรรูปโดยการนำผลฮาลาไปอบ และนำเนื้อเยื่ออ่อนข้างในออกไปตากแดดจนแห้ง และนำมาปั้นเป็นแท่ง (เหมืนอทุเรียนกวน)  และนำไปห่อด้วยใบของต้นฮาลาเพื่อเก็บรักษาเอาไว้ เรียกว่า mokwan (ชื่อที่คนในหมู่เกาะมาร์แชลล์เรียก) หรือ sehnikun (ประเทศตามแทนไมโคนีเซียเรียก)


ในฮาวาย สร้อยที่ทำจะเมล็ดของต้นฮาลา เรียกว่า Halalei (lei แปลว่า “สร้อยคอ”) ซึ่งผลของฮาลาจากคล้ายๆ กับผลสัปปะรด เชื่อกันว่าความสัมพันธ์กับความตาย เป็นสัญลักษณ์แทนความเศร้า เสียใจ เป็นการแสดงการบอกลาผู้เสียชีวิตอย่างนิรันดร์ ดังนั้นจึงไม่นิยมสวมสร้อยจากเมล็ดฮาลาในชีวิตประจำวันเพราะเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ที่อัปมงคล แต่ว่าถ้าสวมใส่ในวันปีใหม่จะถือว่าเป็นมงคล เพราะจะถือเป็นการบอกลากับสิ่งที่อัปมงคล

สร้อยคอที่ทำจากเกสรเพศผู้ของต้นฮาลา เชื่อว่าช่วยส่งเสริมสติปัญญา และถ้าเอาสร้อยไปคนในอาหารของผู้หญิงและให้เธอกินเข้าไป จะช่วยให้ค่ำคืนนั้นกลายเป็นคืนที่ดื่มด่ำ

ใบของฮาลายังนิยมนำไปทำเครื่องจักรสาน ซึ่งชาวฮาวายเรียก  lauhala (lau แปลว่า “ใบ”)

Yandex.Metrica