ต้นไม้ที่มีเจ็ดใบ


วันก่อนเดินเข้าไปในวันเกาะหลัก เพื่อชมรูปหล่อหลวงพ่อเปี่ยม (เปี่ยม ถาวรนันท์,(ฉายา) เปี่ยม จันทโชโต, (สมณศักดิ์) พระครูสุเมธีวรคุณ) องค์ใหญ่ ซึ่งใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว รูปหล่อหลวงพ่อมีสีทอง ความสูง 12 เมตร อยู่บนฐานที่สูงเท่าอาคารสองชั้น  รวมความสูงก็ยี่สิบกว่าเมตร หลวงพ่อตั้งอยู่บนลานกว้างที่เกือบจะกึ่งกลางของพื้นที่วัด ความสูงขนาดนี้ในวัดชนบทแบบประจวบฯ ก็ยากที่จะหาอาคารรอบๆ ที่สูงกว่าได้ นอกเสียจากปลายยอดของเมรุ… กับต้นไม้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เป็นเงาตะคุ้มอยู่เบื้องหลังหลวงพ่อ

“ต้นอะไรนะ ?”

ด้วยความสงสัยก็เลยเดินเข้าไปดู เราอาจจะเป็นคนในพื้นที่ แต่บางทีการอยู่มานานก็ทำให้ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด เหมือนกับที่หนังสือจิตวิทยาชื่อดัง The Invisible Gorilla อธิบายเอาไว้ละมั้งว่า เมื่อเราโฟกัสกับบางสิ่ง เราก็จะง่ายที่จะลืมโฟกัสกับสิ่งอื่นแวดล้อม เมื่อเข้าวัดมาเราก็มององค์หลวงพ่อจนอาจจะลืมดูต้นไม้ด้านหลัง

พอเดินเข้าไปใกล้ ใต้โคนต้นก็ใช่ว่าจะหาคำตอบได้ทันทีว่ามันคืนต้นอะไร เพราะ ให้ตายเหอะ มันสูงเสียจนไม่สามารถมองใบหรือกิ่งได้ชัดเจน และเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้วด้วย ถ้าอยู่จนมืดก็กลับว่าจะยิ่งสับสนระหว่างต้นไม้ใหญ่นี่ กับขาเปรต (ถ้าเกิดมี) ก็ได้ ก็เลยรีบๆ ถ่ายรูป แล้วรีบถอยกลับออกจากวัดก่อนจะมืด

จะไม่ให้กลัวได้อย่างไรหล่ะ เพราะเลยต้นไม้ใหญ่ไปนิดเดียวก็เป็นป่าช้า เจดีย์และที่เก็บผู้วายชนม์เต็มไปหมด

เมื่อกลับมากูเกิ้ลดูก็สรุปว่า … ต้นตีนเป็ด ! หรือ พระยาสัตบรรณ นั่นแหละ ต้นไม้ใหญ่ที่เจอในวัด

แต่พระยาสัตบรรณสูงขนาดนี้ 20 -30 เมตร แบบที่วัดเกาะหลักนี่ไม่เคยเจอที่อื่นเลย เพราะถึงสัตบรรณจะเป็นไม้ที่นิยมปลูก แต่เมื่อมันสูงระดับหนึ่ง ก็จะถูกโค่นทิ้ง เพราะใหญ่มาก และหลายคนก็ไม่ชอบกลิ่นของดอกสัตบรรณ ซึ่งสัตบรรณจะออกดอกช่วงปลายฝน ราวเดือนตุลาคม

อันที่คำว่า สัตบรรณ หรือ “Saptaparna”, “Saptaparni” เป็นชื่อที่ถอดเสียงมาจากภาษาสันสฤต โดยตรง

Saptaparna เกิดจากคำสองคำมารวมกัน คือ Sapta และ Parna
Sapta แปลว่า เจ็ด, Parna แปลว่า ใบ
คำว่า สัตบรรณ จึงหมายความว่า ต้นไม้ที่มีใบ 7 ใบ

มีเรื่องเล่าทางศาสนาว่า วันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เทศนาธรรมให้กับบรรดาขอทาน พระองค์ได้ทรงเปรียบเทียบใบของต้นสัตบรรณว่าเหมือนกับมนุษย์ ถ้าใบใบหนึ่งฉีกขาดออกมาแล้ว ใบที่เหลือก็จะสามารถที่จะฉีดออกมาได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าใบทุกใบอยู่พร้อมเพรียงกันมันก็จะแข็งแกร่ง

สัตบรรณ จึงแฝงความหมายถึง สัปปุริสธรรม 7 ประการ (ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท ปุคคลัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล)

สัตบรรณ ยังเป็นชื่อของถ้ำสัตบรรณ (Saptaparni cave) ซึ่งถ้ำแห่งนี้ปัจจุบันราชคฤห์, รัฐพิหาร (Rajgir, Bihar, India) ประเทศอินเดีย ซึ่งในสมัยโบราณหน้าถ้ำมีต้นสัตบรรณใหญ่ขึ้นอยู่จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำ  ถ้ำสัตบรรณเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิทางศาสนาพุทธ เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าใช้ชีวิตในช่วงก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงใช้ถ้ำเป็นสถานที่ในการเทศนาธรรมให้กับพระอรหัตถ์บางรูป

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปริพนิพพาน ได้ 3 เดือน ถ้ำสัตบรรณถูกใช้เป็นสถานที่ในการสังคยานาพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยมีพระอรหันต์มาประชุมกัน 500 รูป  โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งพระอานนท์ (Ananda) และพระอุบาลี (Upali)  เป็นผู้รวบรวบพระธรรม และพระธรรมวินัย

ที่มหาวิทยาลัยวิสวา-ภารตี (Visva-Bharati University) ในอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยรพินทรนาถ ฐากุร (Rabindranath Tagore) ยังมีธรรมเนียมการมอบใบสัตบรรณเป็นสัญลักษณ์ให้กับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาด้วย … 🍃