ธันวาคม 4, 2023

ผีเสื้อ…กับ กินรี

ผีเสื้อ…กับ กินรี

4 ธ.ค. 2566…เมื่อคืนนี้ฝนตกลงมาตั้งแต่ตีหนึ่ง อุตุฯ บอกว่าภาคใต้คงจะมีฝนตกหนักไปอีกสามสี่วัน วันนี้ตอนเช้าตื่นมาไม่มีฝนแต่ว่าท้องฟ้าก็มืดครึ้มตลอด ไร้แสงแดด พอมาถึงสวนก็เลยรีบออกไปตัดหญ้าสักหน่อย เพราะไม่รู้ว่าฝนจะคกมาตอนไหน

แล้วตอนที่ตัดหญ้านี่ก็ไปเจอเจ้าดอกไม้สีม่วงนี่ กำลังบานสวยเลย แต่ว่าไม่รู้เหมือนกันว่ามันชื่อภาษาไทยอะไรนะ แต่ว่าลองกูเกิ้ลดูก็พบว่าชื่อภาษาอังกฤษของมัน คือ Spurred butterfly pea, butterfly pea, blue bell, wild blue vine, wild pea …หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centrosema virginianum ก็เลยแปลกตรงๆ เป็นภาษาไทยเลยว่านี่ คือ ต้น ถั่วเดือยผีเสื้อ, เถาผีเสื้อ, ระฆังฟ้า, เถาฟ้าป่า, ถั่วป่า มันถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือ Commentationes de Leguminosarum ของจอร์จ เบนธัม (George Bentham) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1837 .. คำว่า Centrosema แปลว่า เดือย,หนาม และ Virginiaum ก็บอกว่ามันเป็นพื้นท้องถิ่นในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งพืชในจีนัส Centrosema นี่หน้าตาคล้ายๆ กัน อย่าง Centrosema Virginianum ก็ดูคล้ายกับ Centrosema pubescens และก็มีชื่อภาษาอังกฤษเหมือนกัน เลยไม่แน่ใจว่าที่พบในสวนนี่เป็นสปีชีย์อะไร

เถาผีเสื้อนี้เป็นไม้เลื้อย ในสวนนี่ มันมักเกาะตามต้นหญ้าที่มีขนาดใหญ่กว่า เถาผีเสื้อยาวได้ถึง 12 ฟุต ฝรั่งบอกว่าปกติแล้วจะออกดอกในหน้าร้อน แต่ว่าไม่แน่ใจเพราะอากาศเปลี่ยนหรือตำราฝรั่งผิด เพราะว่าตอนนี้เดือนธันวาหน้าหนาวและก็มีฝน แต่ว่าในจาไมก้า (Jamaica) เรียกเถาผีเสื้อนี้ว่า ฟี ฟี (Fee Fee) และบอกเอาไว้ว่าเป็นดอกไม้ที่บานในช่วงคริสต์มาส

คำว่า Butterfly pea ยังคงสร้างความสับสนได้อีก เพราะในภาษาอังกฤษแปลไทย มันยังหมายถึงดอกอัญชัน ด้วย แต่ว่า ดอกอัญชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clitoria Ternatea ซึ่งอัญชันกับเถาผีเสื้อพืชคนละจีนัสกัน

อัญชันนั้นมีตำนานเล่าเอาไว้ว่า มีสตรีนางหนึ่งชื่อว่า อิศรา (Isra) คืนหนึ่งนางฝันว่ามีนางกินรี (Kinnari) ซึ่งเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนก ได้มายังบ้านของนาง นางกินรีได้พานางอิศราบินไปในท้องฟ้าที่มีแสงดาวแพรวพราย บินผ่านบึงน้ำใหญ่ที่มีดอกบัวมากมาย และผ่านซากปรักหักพังของเจดีย์โบราณ จนกระทั้งมาถึงยังป่าหิมพานต์ ซึ่งเมื่อมาถึงป่าหิมพานต์แล้ว พวกเขาได้เดินเท้าเช้าไปในป่าที่มีกลิ่นหอม จนกระทั่งอิศราได้พบกับดอกอัญชันที่นางไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งนางกินรีได้บอกให้อิศราเอาดอกไม้นั้นกลับมาปลูกยังโลกมนุษย์และเผยแพร่ให้มนุษย์คนอื่นได้รู้จัก

เมื่อดอกไม้ออกดอก มันก็มีสีฟ้าม่วงที่สวยงาม อยู่มาวันหนึ่งอิศราก็เด็ดดอกอัญชัน และบีบมะนาวใส่เช้าไปเล็กน้อย น้ำสีม่วงก็เลยมีสีชมพูจางๆ ประสม …และนี่เป็นกำเนิดของชาดอกอัญชัน


แต่ต้องย้ำอีกทีว่าเถาผีเสื้อกับอัญชันนั้นคนละต้นกัน และอัญชันเอามาชงชาดื่มกัน แต่ว่าเถาผีเสื้อนี้ยังไม่เห็นช้อมูลบอกว่าคนกินกันหรือป่าว แต่บอกเอาไว้ว่านิยมปลูกเป็นพืชบำรุงดินและใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงวัวควาย...🍃

Yandex.Metrica