จาก แชดด๊อก ถึง ซาบอน
ไม่ได้จะเขียนบทสารคดีนำเที่ยว แต่ยังคงคอนเซปต์ของการเล่าเรื่องผลหมากรากไม้ภายในสวน และวันนี้ก็พูดถึงต้นไม้ที่ค่อนข้างจะน้องใหม่สำหรับในสวน เพราะตั้งแต่ปลูก 2 ปีแล้ว ยังไม่เคยได้กินผลผลิตเลย ... เจ้าส้มโอ !!
ส้มโอ (pomelo) เคยมีชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกว่า แช๊ดด๊อก (Shaddock) ในประเทศแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ตำนานเล่ากันว่า กัปตันเรือของบริษัทอีสต์อินเดีย (East India Company) ที่ชื่อว่า ฟิลิป แช๊ดด๊อก (Philip Chaddock) ซึ่งเดินทางไปยังประเทศบาร์บาดอส (Barbados) ที่อยู่ในแคริบเบียน เป็นผู้นำเมล็ดส้มโอไปปลูกเอาไว้ที่บาร์บาดอสนี้ ประมาณปี 1649 ทำให้ผลไม้ชนิดนี้ถูกเรียกว่า แช็ดด๊อก (บางที่ก็สะกด Chaddock หรือ Shaddock) ก่อนที่ส้มโอจะแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา
แต่ว่าชื่อ แช็ดด๊อก นี้ยังถูกเรียก เกรปฟรุต (Grapefruite) ด้วย ซึ่ง เกรปฟรุต กับส้มโอ เป็นผลไม้ที่ดูเหมือนกัน จัดอยู่ในจีนัส (genus) เดียวกัน แต่คนละสปีชีย์ แต่เกรปฟรุตนั้นเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในบาร์บาดอส
ในประเทศฟิลิปปินส์ มีเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า ลุกแบน (Lucban) ซึ่งชื่อเมืองนี้หมายถึงต้นส้มโอ โดยมีที่มาจากบทกวีลุกแบน (Ode to Lucban) ซึ่งเล่าเรื่องราวของนายพราน 3 คน ซึ่งเป็นนายพรานจากเมืองมาเจย์เจย์ (Majayjay) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน นายพรานทั้ง 3 คน นี้มีชื่อมา มาร์คอส ไทกลา (Marcos Tigla) ลุอิส แกมบา (Luis Gamba) ลูคัส มานาวา (Lucas Manawa) ระหว่างที่นายพรานทั้งสามกำลังเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ พวกเขาเกิดหลงป่าและเดินมาจนกระทั้งถึงตีนภูเขาไฟบานาฮาว (Mount Banahaw volcano)
พวกนายพรานทั้งหลายก็หยุดพักกันที่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่สักพักพวกเขาสังเกตุเห็นว่ามีนกอีกาตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่กิ่งของต้นไม้ต้นนี้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่านี้เป็นลางร้าย จึงได้ย้ายไปนอนที่ต้นไม้ต้นอื่นและนั่งพักกันอีกครั้ง และที่ต้นไม้ต้นใหม่นี้พวกเขามองเห็นนกกระเต็นกำลังไสขนตัวเองและขับร้องเพลงกันอย่างมีความสุข นายพรานก็เชื่อว่านี้เป็นลางดี และพวกเขาจึงตั้งชื่อต้นไม้นี้ว่า ลุกแบบ (ส้มโอ)
ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ ส้มโอ ถูกเรียกว่า ซาบอน (ザボン, Zabon) หรือ บันตัน (文旦, buntan) ตามชื่อของนักเดินเรือชาวจีน ชื่อ ชา บันตัน (Captain Sha Buntan, 谢文旦 อ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งเล่าว่าเป็นผู้นำส้มโอเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นคนแรก ราวปี 1700s
กรกฏาคม 2566...ช่วงนี้ท้องฟ้าครึ้มๆ ทั้งวัน บนฟ้ามีเมฆฝนแต่ว่าฝนไม่ค่อยจะตก ก็เป็นประจำของเกือบทุกๆ ปีที่ช่วงนี้ฝนจะทิ้งช่วง หลังจากเริ่มเข้าหน้าฝนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และทางภาคใต้ฝนจะไปตกหนักช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน หน้าที่มีมรสุมเข้ามา
เมื่ออาทิตย์ก่อน ต้นเดือนมีงานเทศกาลอาหารพื้นบ้าน ครั้งที่ 6 บริเวณอ่าวประจวบฯ ในงานนอกจากอาหารทะเลซึ่งเป็นของคู่กับเมืองชายทะเลเล็กๆ แห่งนี้แล้ว ก็จะมีต้นไม้ทั้งไม้ดอกและผลไม้มาขายด้วยเสมอ ซึ่งก็ไม่ต้องบอกเลยว่าปีนี้ซื้อต้นอะไรมาลงที่สวน เพราะว่าเล่าประวัติศาสตร์และตำนานมาซะขนาดนี้ ก็ซื้อต้นส้มโอมาลงนี่แหละ ปกติจะเลือกลงส้มโอแค่สองพันธ์ คือ ขาวใหญ่ กับทับทิมสยาม ไม่อยากจะปลูกหลายพันธ์ุเพราะว่าพอเก็บผลผลติแล้วจะจำไม่ค่อยได้ว่าพันธ์ุไหนเป็นพันธุ์ไหน เพราะเป็นมือใหม่ในการปลูกส้มโอ
ปีนี้ตอนแรกคิดว่าจะได้กินส้มโอที่ปลูกเอง มากว่าสองปีแล้ว สักลูก แต่ปรากฏว่าต้นปีของปีนี้อากาศร้อนจัดและแล้งมาก ส้มโอที่ปลูกไว้ตายไปเกือบหมด รวมถึงต้นที่กำลังออกผลผลิตด้วย เสียดายมาก ... ก็พยายามให้น้ำช่วยมันแล้วแต่ว่าเอาไม่อยู่จริงๆ
เดือนนี้พอมีต้นส้มโอมาขายก็เลยพยายามจะลงส้มโอชุดใหม่ แต่ซื้อมาแค่นิดหน่อย 12 ต้น และก็หลายพันธุ์ด้วย ต่างจากความตั้งใจเดิม เพราะว่างานเล็กๆ และร้านค้าก็ไม่มาก แม่ค้าก็หยิบมาขายพันธุ์ละไม่กี่ต้น งวดนี้ก็เลยซื้อทั้ง ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง ขาวน้ำผึ้งไร้เมล็ด และก็ทับทิมสยาม มาปลูก .. ก็หวังว่าจะได้มีโอกาสกินส้มโอที่ปลูกเองสักที 🍃