มีนาคม 16, 2023

ผีพราย

ผีพราย

เมื่อตอนเล็กๆ จำได้ว่าผู้เขียนตามพ่อไปตกปลาตรงอ่าวประจวบซึ่งอยู่หน้าบ้านนั่นแหละ อยู่สองสามหน ตอนนั้นพ่อพาไปช่วงหัวค่ำสองสามทุ่ม การตกปลาตอนนั้นเราไม่มีเบ็ดสำเร็จรูปเหมือนสมัยนี้ แต่ว่ามักจะมีแค่เส้นเอ็นกับกระป๋องนมที่เอาไว้พันเก็บเส้นเอ็นเท่านั้น แล้วพวกเราก็จะไปนั่งบนสะพานปลาที่อ่าวประจวบ แล้วก็หย่อนเบ็ดลงมาตามช่องระบายน้ำของสะพาน สะพานปลารุ่นเก่าดั่งเดิม ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นสราญวิถีแบบที่เห็นในปัจจุบันนั้น ยังเป็นสะพานสำหรับเรือประมงให้เรือมาเทียบท่าเพื่อขนปลาขึ้นฝั่ง ถนนบนสะพานเป็นคอนกรีด แต่ว่าเสาทำจากไม้มะพร้าวหรือไม้ตาล บนถนนมีการเจาะรูระบายน้ำอยู่หลายรูเพื่อระบายน้ำไม่ให้ขังบนสะพาน ต่างกับสะพานปัจจุบันที่เป็นแลนมาร์คและจุดชมวิวเพื่อการท่องเที่ยว และก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์สำหรับการประมงเสียแล้ว

สมัยนั้นออกไปตกปลา แต่ว่าไม่เคยจะตกปลาได้หรอก เพราะเรายังเด็ก กลางวันวิ่งเล่นจนเพลียแล้ว พอหัวค่ำจริงๆ ก็ง่วงแล้ว จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ไปตกปลา ก็นั่งงัวเงียอยู่บนเสาที่เอาไว้ผูกเรือ จนเกือบจะหงายหลังลงไป ..

บ้านของเราอยู่ใกล้ทะเล แม้ไม่ได้ทำประมงแต่ว่าหลังเลิกเรียน ชายทะเลนี่แหละที่คือสนามเด็กเล่นของพวกเรา ตกเย็นหรือวันหยุดตอนเย็นๆ ก็จะมาปั้นดินให้เป็นลูกบอล แล้วเอามากลิ้งชนกัน บอลดินของใครแตกก็แพ้

ทะเลตรงอ่าวประจวบฯ เมื่อก่อนนี้สกปรกมาก เพราะการจัดการขยะสมัยก่อนไม่มี ชาวบ้านมีอะไรก็มาโยนลงไปบนหาดทราย รอให้มีมรสุมที่ช่วงปลายปี ขยะเหล่านั้นถึงจะหายไป

แต่แม้ว่าชายหาดจะสกปรก แต่ว่าธรรมชาติยังคงอุดมสมบรูณ์ กุ้งหอยปูปลา ฉลาม วาฬ หรือเต่าก็ยังมีให้เห็น หาดทรายตอนนั้นยังเป็นสีขาว หน้าร้อนเวลาเดินบนทรายจะมีเสียงดังฟรืดๆ คล้ายเอาไม้หวดในอากาศ ที่ทรายตอนนั้นขาวมาก คิดว่าเพราะมันมีส่วนผสมของเปลือกหอยมาก โดยเฉพาะหอยทับทิม เมื่อก่อนมีอยู่เต็มไปหมด แต่ว่าสมัยนี้ชายหาดเป็นทรายล้วนๆ แทบไม่เปลือกหอย หาดก็เลยออกสีเทาน้ำตาลของเม็ดทราย

อยู่กับทะเลก็มีเรื่องของผีเหมือนกันนะ ได้ฟังผู้ใหญ่เล่ากันว่าในทะเลมีผีพราย แต่ว่าเขาไม่ได้เล่าขู่ให้กลัว แต่ว่าเหมือนเป็นนิทานให้ฟัง

ตอนเด็กยังไม่ได้เข้าใจว่าผีพรายนี่เป็นอย่างไร เราก็แค่คิดว่าคงเป็นคน เหมือนผีตัวอื่นๆ จนโตขึ้นมาแล้วนี่แหละ ออกไปเดินเล่นชายทะเลแล้วก็เห็นว่าคลื่นในทะเลมันมีแสงแว็บๆ (ตอนเด็กๆ ไม่ได้สังเกต) ตอนนั้นถ่ายภาพมาให้พี่ชายดู พี่ชายก็เลยว่านี่แหละที่พ่อเรียกว่าผีพราย (พ่อเสียไปแล้วในตอนนี้)

หลังจากนั้นก็เห็นผีพรายทุกๆ ปีเลย แต่ว่าผีพรายไม่ได้เห็นตลอดปี ช่วงที่เห็นผีพรายบ่อยๆ คือช่วงปลายปี จนถึงช่วงเดือนมีนาคมนี่แหละ เป็นช่วงหลังจากทะเลมีมรสุมในฤดูหนาวแล้ว ช่วงนั้นผีพรายจะไม่มี เพราะคลื่นแรง แต่ว่าพอคลื่นสมอ่อนลง เราก็จะมองเห็นผีพราย

0:00
/0:26

ผีพรายคืออะไร ?

จริงๆ แล้วผีพราย เป็นแสงจากสิ่งมีชีวิตในทะเล คล้ายกับที่มีหิ่งห้อยบนบก ในทะเลก็มีพวกปลาหมึก แมงกระพุน กุ้ง หรือสาหร่ายที่สร้างแสงในตัวเองได้ เรียกปรากฏการณ์ที่สิ่งมีชีวิตสร้างแสงแบบนี้ว่า Bioluminescent

แต่ว่า ถ้าจะให้ระบุว่าผีพราย ที่เห็นในคลื่นเกิดจากสิ่งมีชีวิตอะไร ก็ต้องบอกว่าส่วนใหญ่เกิดจากแสงของ ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellates) สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่ถูกจัดเป็นสาหร่าย (algae) ประเภทหนึ่ง มีทั้งที่ให้แสงสีฟ้า, แดง หรือเขียว ไดโนแฟลกเจลเลต เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (Red Tide) หากมีปริมาณที่มากเกินไป

ผีพราย เป็นคลื่นที่เรืองแสง ที่เห็นที่อ่าวประจวบนี่มองเห็นด้วยตาเปล่า จะให้แสงสีเขียว เวลาที่คลื่นม้วนตัวก่อนใกล้จะกระทบกับชายฝั่ง ช่วงนี้หากไปนั่งที่ชายทะเลก็จะมองเห็นคลื่นเรืองแสงแบบนี้ได้ง่ายๆ ด้วยตาเปล่า คลื่นที่วิ่งเข้ามาลูกหรือสองลูก ก็จะมีผีพรายโผล่มาให้เห็นสักลูกหนึ่ง แต่ว่าทะเลด้านที่มองเห็นจะอยู่ตั้งแต่เขาช่องกระจกไปจนถึงเขาตาม่องล่าย อาจจะเพราะด้านนั้นมีป่าชายเลน ดังนั้นหากมาเดินชายทะเลแถวๆ นี้ก็อย่าลืมหันหน้าไปมองคลื่นที่เข้ามากระทบฝั่งด้วย ... กลับบ้านไปจะได้บอกใครๆ ได้ว่า คืนนี้เห็นผีด้วย... 🍃


Yandex.Metrica