กุมภาพันธ์ 19, 2024

ทะเลพันปี… ภูเขาพันปี

ทะเลพันปี… ภูเขาพันปี

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย. 2566)โทรไปคุยกับอาจารย์ท่านหนี่ง อาจารย์เป็นนักธรณีวิทยาแต่ก็มีผลงานศึกษาและเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์และโบราณคดีไว้มาก อาจารย์บอกว่าน่าจะช่วยๆ กันเขียน เพื่อเก็บประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองประจวบฯ​ เอาไว้บ้าง เพราะบ้านเรายังขาดคนที่ช่วยกันบันทึก ( ผู้เขียนก็เห็นว่าดีเหมือนกัน)

อย่างเหตุการณ์ที่เครื่องบิน จากกองบิน 5 ทำระเบิดตก บริเวณสำนักงานที่ทำการ อ.เมือง บริเวณสนามเทนทิส เนี่ยะ มีคนบาดเจ็บและล้มตายมากมาย เหตุการณ์เกิดขึ้นปีไหนอันนี้ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลในตอนนี้ แต่อาที่ผู้เขียนรู้จักคนหนึ่ง ชื่ออาตุ๊ ซึ่งตอนนี้อายุ 87 ปีแล้ว บอกว่าตัวอาเองจำได้ว่า ระเบิดตกตอนที่อาเรียนจบจากโรงเรียนประจวบวิทยาลัย แล้วก็ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ได้ 2 ปี (อา จบจาก ป.ว. ปี 2491 ... เหตุการณ์ก็น่าจะเกิด ปี 2493 อันนี้ต้องย้ำไว้ก่อนว่าข้อมูลยังไม่แน่ชัด แค่ประมาณให้ผู้อ่านฟัง แต่ว่าคงหา วันที่ที่แน่นอนได้ไม่ยาก)

วันนั้นเป็นวันสงกรานต์ และในเมืองก็มีการจัดงานรื่นเริงกันหน้าที่ทำการอำเภอ ส่วนในกองบินน้อยที่ 5 (ชื่อในเวลานั้น) มีการซ้อมบินทิ้งระเบิด ซึ่งปกติการซ้อมจะทิ้งระเบิดลงบนเกาะแอ่น ที่อยู่ตรงกลางอ่าวมะนาว

แต่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะว่าวันนั้นเครื่องบิน เมื่อบินไปทิ้งระเบิดแล้ว เมื่อกดปล่อยระเบิด ระเบิดกลับไม่หลุดออกจากสลักยึดกับเครื่องบิน โดยที่นักบินไม่รู้ และได้ทำการบินต่อไป และได้บินวนเพื่อจะกลับมาลงจอด แต่ว่าเมื่อเครื่องวนมาเหนือสำนักงานอำเภอ ลูกระเบิดก็ตกลงมา ซึ่งในวันนี้เป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ และมีคนเสียชีวิตมากมาย อาอีกคนที่ผู้เขียนพอจะรู้จัก อายุก็ 80 กว่าแล้วยังมีชีวิตอยู่ ได้รับบาดเจ็บจนขาพิการ เดินไม่ปกติ (เคยไปถามแล้วว่าระเบิดตกปีอะไร เสียดายที่อาเขาจำไม่ได้) อีกคนหนึ่งเป็นคุณลุงที่เสียชีวิตไปแล้ว ชื่อว่า นง... ลุงนงนี่ภรรยาคนแรกของลุงเสียชีวิตในวันนั้นเลย

เอาไว้ไปหาข้อมูลใหม่ แแล้วค่อยมาเขียนบันทึกเรื่องระเบิดตกที่หน้าอำเภอกัน

แต่เรื่องที่จะเขียนอีกเรื่องวันนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่รู้เหมือนกัน (ฮา) แต่ว่าเมื่อวานเป็นวันอาทิตย์ บริเวณ ถ.สู้ศึก หัวถนนนับจากกองบิน 5 ที่บริเวณนี้เรียกหัวบ้าน บริเวณหัวบ้านนี้จะมีการจัดงานถนนวัฒนธรรมขึ้นมาทุกอาทิตย์ ซึ่งช่วงนี้บางทีก็เรียก “ตลาดบก“ แต่ว่าวันนี้ตลาดไม่บกแล้ว เพราะฝนตกหนักชุ่มช่ำทั้งวัน ตอนเย็นๆ ฝนถึงหยุด วันนี้ร้านค้าจึงไม่มาก เดินไปออกจะเงียบเหงา แต่ว่าก็ได้แสงตอนเย็นหลังฝนตก ทำให้ถ่ายรูปออกมาสีแปลกไปอีกอย่าง

แต่ว่าหัวถนน ใกล้ๆ กับบ้านชมชูเวชช์ (เจ้าของบ้านดังเดิมคือหลวงชม ชมชูเวชช์ ... หรือว่าชื่อเดิม ชม เกตุสมัย เป็นทหารอากาศ) มีศาลเจ้าเก่าอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งมีป้ายเขียนบอกเอาไว้ว่า ศาลเจ้าแห่งนี้เรียกว่า ศาล ”ยูวาเซ็น” ศาลตั้งอยู่บนที่ดินชองคุณยายสำเภา อิ่มอาบ ศาลมีความศักดิ์สิทธิข้าราชการที่ย้ายเข้ามาใหม่จะมากรอบไว้เสมอ อีกทั้งชาวประมงจะมาขอพรก่อนออกทะเลทุกครั้ง

แล้ว ยูวาเซน คืออะไร แปลว่าอะไร ?

อันนี้ผู้เขียนเองบอกเลยว่า “ไม่รู้” และเล่าเรื่องที่สันนิษฐานล้วนๆ เลยหลังจากบรรทัดนี้ไป


สมมุติฐาน ที่ 1 เพราะว่าศาลเจ้าตั้งอยู่บนถนนสู้ศีก ถนนประวัติศาสตร์ที่ชื่อถนนมาจากเหตุการณ์การรบกับญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 คำว่า … “ยูวาเซ็น” จึงน่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นแน่ๆ แต่ความยากของภาษาคือความหมายของคำในภาษาญี่ปุ่นขึ้นกับว่าคำนั้นถูกเขียนด้วยอักษรคันจิตัวไหน คำที่ออกเสียงอย่างเดียวกัน จึงอาจจะมีได้หลายสิบความหมายถ้าไม่รู้ตัวเขียน เช่น

線 (เซ็น) - เรือ

戦 (เซ็น) - สงคราม

千 (เซ็น) - หนึ่งพัน

勇和 (ยูวะ) - ทหารกล้า

夕麻 (ยูมะ) - กลางคืน, มืด, บ่าย


ยูวาเซ็น จึงอาจจะหมายถึง สงครามในเวลากลางคืน ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ในสงครามโลก ที่ญี่ปุ่นยกทัพบุก ประจวบฯ เวลา 4 นาฬิกา ก่อนรุ่งสราง ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484


2.สมมุติฐาน ที่ 2 เป็นคำภาษาไทย ผสมญี่ปุ่น

ระหว่างคำว่า ยุว และ 戦 (เซ็น) - สงคราม

หมายถึงเป็นศาลที่รำลึกถึงเยาวชนที่เสียชีวิตในสงครามหรือป่าว ซึ่งในสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในการรบที่อ่าวประจวบฯ นี้ มีลูกเสือ ที่เช้าร่วมรบด้วย โดยทำหน้าที่ส่งเสบียง ได้แก่ ลูกเสือบุญยิ่ง ศิริเสถียร, ลูกเสือบุญเลื่อน เจริญพงษ์, ลูกเสือทองปลิว จิตต์การุณย์, ลูกเสือละมูล ช่วงชู… ซึ่งลูกเสือบุญยิ่ง ศิริเสถียร เสียชีวิตในวันที่ 9 ธันวาคม 2484

แต่ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมถึงเป็นศาลที่ชาวประมงกราบไหว้กันหล่ะ ? จึงมีสมมุติฐานที่สาม

3. สมมุติฐานที่ 3 ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ยูวาเซ็น เป็นคำอื่น ที่กร่อนเสียงมาจาก Yumisen-Yamasen (海千山千)

ยูมิเซน-ยามะเซน เป็น มูชิ (mushi) หรือภูติผี ชนิดหนึ่งที่ยาวเหมือนงู มูชิในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า แมลง หรือภาษาวรรณกรรมจะแปลว่า สิ่งที่มีสีเขียว มันเกิดขึ้นมาในความมืดและอาศัยในความมืดจุดที่เป็นบริเวณรอยต่อของเงามืดกับแสงสว่างมาบรรจบกัน

ตามความเชื่อ ยูมิเซน-ยามะเซน เป็นงูที่จะต้องอาศัยอยู่ในทะเลหนี่งพันปี และอยู่ในภูเขาหนึ่งพันปี ก่อนที่จะสามารถกลายร่างเป็นมังกร


แล้วบริเวณนั้นมีอะไรที่เหมือนงู-และมีสีเขียว และชาวประมงเห็น ?

ตอบ พรายทะเล เพราะประจวบฯ เป็นชุมชนประมงดังเดิมแต่ไหนแต่ไร ผสมกับความเชื่อเรื่องผี จีงไม่แปลกที่ทุกครั้งก่อนออกทะเลที่มีความเสี่ยงจะต้องหาที่ยืดเหนี่ยว ในทะเลอ่าวประจวบฯ นี้มองเห็นคลื่นทะเลเรืองแสงสีเขียว กระพริบยิบๆ ยับๆ ได้ง่ายในช่วงปลายปีหลังมรสุม จนถึงกลางๆ ปี ซึ่งอันที่จริงๆ มัน คือ แสงของ สาหร่าย ประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoglagellates)


ผู้อ่านเห็นด้วยกับความหมายของ ยูวาเซ็น หรือ มีความหมายอื่นที่ดีกว่าบ้าง … เล่าสู่กันฟังบ้างนะ 🍃

Yandex.Metrica